จับตามอง ธุรกิจ HealthTech มาแรง ในศตวรรษที่ 21

เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าขึ้นทุกวัน การบริการทางสุขภาพจึงไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ภายในโรงพยาบาลเท่านั้น ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบัน ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป จึงทำให้ธุรกิจ Startup ด้านสุขภาพ หรือ HealthTech กำลังถูกจับตามองมากที่สุด

สตาร์ทอัพด้านสุขภาพ หรือ Health Tech คืออะไร?

สตาร์ทอัพด้านสุขภาพเป็นกลุ่มของสตาร์ทอัพที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของระบบบริการสุขภาพ โดยการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับระบบสุขภาพนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมมาเป็นอันดับแรก

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่าน Health Tech startup เป็นกลุ่มของสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตขยายตัวในประเทศไทย อาจเพราะไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงมีความต้องการการดูแลด้านสุขภาพระยะยาวเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เทคโนโลยีที่นำเข้ามาใช้ ก็จะช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาลนั่นเอง

สตาร์ทอัพด้านสุขภาพมีอะไรบ้าง?

          เนื่องจากแนวโน้มของ Health Tech นั้นเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี ดังนั้น เราจึงมีเทรนด์การทำธุรกิจที่น่าสนใจมาก มาแนะนำให้ทุกคนรู้จัก โดยธุรกิจสตาร์ทอัพด้านสุขภาพ สามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่

1.  การวิจัยพัฒนายาและวัคซีน

เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น Virtual Reality โดยอาจจำลองคนไข้ในคอมพิวเตอร์ หรือ ‘in silo medicine’ การจำลองอวัยวะ ซึ่งจะสามารถเร่งระยะเวลาในการวิจัยยาและวัคซีนได้รวดเร็วขึ้น ทำให้นักวิจัยสามารถทดสอบประสิทธิภาพของยาและวัคซีนใหม่ๆ ได้อย่างทันท่วงที นอกจากเทคโนโลยีนี้จะช่วยลดระยะเวลาในการทดลองยาหรือวัคซีนได้เร็วขึ้นแล้ว ยังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยลดจำนวนการใช้ยาของมนุษย์ได้จริงอีกด้วย เทคโนโลยีนี้จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับงานวิจัย และทำให้งานวิจัยนั้นประสบความสำเร็จได้ในระยะเวลาที่สั้นลง

2. การดูแลสุขภาพและการป้องกันโรค

เมื่อพูดถึงการดูแลสุขภาพและการป้องกันโรค ในปัจจุบันจะไม่ใช่การรักษาโรคเพียงอย่างเดียว แต่จะหมายถึงการส่งเสริม การป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยเสริมสร้างการดูแลสุขภาพของแต่ละคนได้ เช่น Smart Watch หรือนาฬิกาอัจฉริยะ ที่สามารถติดตามการออกกำลังกาย อัตราการเต้นของหัวใจ และระบบอื่นๆ ในร่างกาย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้แพทย์ หรือ AI วิเคราะห์และแนะนำปริมาณการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีให้กับทุกคนที่สวม Smart Wacth

3. การคัดกรองและการวินิจฉัย

ในศตวรรษที่ 21 นี้ เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยทำให้เกิด At-Home Diagnosis หรือการวินิจฉัยได้เองจากที่บ้าน โดยเราจะเรียกธุรกิจกลุ่มนี้ว่าเป็น Telehealth ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้เราสามารถเข้าถึงแพทย์ได้ทุกที่
ทุกเวลา ยกตัวอย่างเช่น คุณอยู่บ้านแล้วหกล้ม เกิดบาดแผล ก็สามารถหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาและใช้ image-scanning เพื่อส่งไปให้แพทย์ คุณก็จะได้รับคำวินิจฉัยเบื้องต้น และหลักการปฐมพยาบาลที่ควรปฏิบัติทันที

4. การเงินและการดำเนินงาน

E-Prescription คือเทคโนโลยีที่กำลังมาแรง และได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มโรงพยาบาล เพราะเข้ามาช่วยลดความแออัดในการรอคิวจ่ายยา แถมยังเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจ่ายยา ตัวอย่างสตาร์ทอัพในไทยที่ได้เริ่มทำ E-Prescription แล้ว นั่นก็คือ Arincare ผู้พัฒนาระบบ Pharmacy Management System ให้ร้านขายยาหรือคลีนิคสามารถจัดการสินค้าได้ดีขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าการใช้ระบบจัดการจากต่างประเทศ

5. การเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วย

นอกจากเทคโนโลยีทางการแพทย์อื่นๆ แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ นวัตกรรมที่สามารถช่วยให้ทุกโรงพยาบาลมีคลังข้อมูลสุขภาพของคนในสังคม เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันทีในกรณีฉุกเฉิน โดยไม่จำเป็นต้องซักถามประวัติการรักษา การแพ้ยา เพิ่มเติมให้เสียเวลา

ปัจจัยเสี่ยงที่สตาร์ทอัพ Health Tech ควรรู้

          ถึงแม้ว่าในช่วง 1-2 ปี  ที่ผ่านมา สตาร์ทอัพ Health Tech จะได้รับความสนใจ และเติบโตมากขึ้นก็จริง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามาเป็นอุปสรรคอยู่ดี โดยปัจจัยเสี่ยงที่ว่านั้นมีด้วยกันถึง 4 ปัจจัย ได้แก่

Growth Stage หรือระยะการเติบโต เป็นปัญหาที่สตาร์ทอัพทั้งโลกต้องเจอ แม้ว่าสตาร์ทอัพจะมีโมเดลธุรกิจ และรายได้จำนวนหนึ่งแล้ว แต่เมื่อลงทุนไปสักพัก ก็อาจจะสะดุดในเรื่องของเงินทุนได้ ดังนั้น การมีเงินทุนสำรองเยอะๆ จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจเดินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

Outdated Regulations มีข้อจำกัดทางกฎหมายของประเทศไทยที่ยังค่อนข้างล้าสมัย และไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ

Patient Risk ความเสี่ยงของผู้สูงวัย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเปราะบางด้านสุขภาพ

Adoption Risk หากไม่มีคนทดลองสินค้าก่อนออกสู่ตลาด ก็จะไม่รู้ความต้องการ หรือประสบการณ์จากผู้ใช้จริง

แนวโน้มสตาร์ทอัพ Health Tech ในไทยของไทย

จากข้อมูลของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่าประเทศไทยมีศักยภาพในอุตสาหกรรม Healthcare และ Medical ในระดับสูง โดยในปี 2019 ประเทศไทยทำรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์มากถึง 630 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการต้อนรับผู้ใช้บริการด้านการดูแลสุขภาพจากต่างประเทศราว 3.5 ล้านคน ส่งผลให้ไทยเป็นตลาดด้าน Medical Tourism ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก

นอกจากนี้เรายังเป็นผู้นำในตลาดอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของอาเซียนอีกด้วย นอกจากธุรกิจการให้บริการแล้ว ในปี 2019 ประเทศไทยยังมีการส่งออกและนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์รวมกันมากถึง 27,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นส่งออกมากถึง 18,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้า 8,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าที่สูงระดับนี้เนื่องมาจากการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่มากกว่า 600 บริษัท นั่นเอง

เป็นอย่างไรกันบ้าง? กับเรื่องราวของ Startup กลุ่ม Health Tech ที่เรานำมาบอกเล่าในวันนี้ หวังว่าจะช่วยให้หลายคนเข้าใจธุรกิจ Health Tech มากขึ้น และมองเห็นโอกาสการเริ่มทำธุรกิจประเภทนี้ในประเทศไทยให้กลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป

          ทั้งนี้ หากใครมีไอเดียเจ๋งๆ อยากทำธุรกิจ Startup ให้ปัง TED Fund ก็พร้อมสนับสนุนทุนและองค์ความรู้ เพื่อผลักดันให้ฝันของคุณเป็นจริงได้

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.scb10x.com/blog/healthtech-landscape

https://thestandard.co/news-business-health-tech/

https://www.disruptignite.com/blog/ecosystem-and-opportunities-for-healthtech

Share on twitter
Share on linkedin
Leave a Response

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

MORE NEWS