ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 เป็นมลพิษที่เราทุกคนต้องเจอทุกวันอยู่แล้ว เพียงแต่เจ้าฝุ่นขนาดเล็กนี้มักจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติในช่วงหน้าหนาว ถึงจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่มันก็ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและปอดของเราโดยตรง
ซึ่งหนึ่งสาเหตุการเกิด PM 2.5 ที่หลายคนมองข้ามไป คือ การเผาอ้อยหรือเศษใบไม้แห้ง ด้วยปัญหานี้เอง อาจารย์ศรัณย์ จันทร์แก้ว อาจารย์คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จึงมีแนวคิดในการศึกษาเส้นใยผสม ที่ทำจากเส้นใยใบอ้อยและเส้นใยฝ้าย สำหรับนำไปใช้ในงานสิ่งทอ เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการกำจัดอ้อยหลังเก็บเกี่ยวแทนการเผา
โดยนำเส้นใยฝ้าย เป็นตัวช่วยในการปั่นเกลียวแบบหัตถกรรมร่วมกับเส้นใยใบอ้อยหลังแปรสภาพแล้ว เมื่อทดลองและวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพตามมาตรฐานอุตสาหกรรมด้านความแข็งแรงของผ้าต่อแรงฉีกขาด ความหนาของผ้า ความโค้งงอ ความแข็งแรงของเส้นด้าย และความสามารถในการดูดซึมความชื้น พบว่าการพัฒนาเส้นด้ายใยอ้อยเพื่องานสิ่งทอครั้งนี้ประสบความสำเร็จ
เพราะเป็นนวัตกรรมการแปรรูปเส้นใยจากอ้อยที่สามารถนำมาออกแบบและใช้งานได้จริง แถมยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นคงในอาชีพให้เกษตรกร และช่วยสร้างเอกลักษณ์ให้ชุมชนที่มีการทอผ้าและการปลูกอ้อยอยู่แล้ว
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมฝีมือคนไทย ที่ช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างสร้างสรรค์ สำหรับใครที่มีไอเดียธุรกิจด้านแฟชั่นดีๆ แบบนี้ TED Fund ก็พร้อมสนับสนุน เพื่อให้ Startup ไทยได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคม
ติดตามรายละเอียดการขอรับการสนับสนุนทุนเพิ่มเติมได้ที่ www.tedfund.mhesi.go.th
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
https://www.bangkokbiznews.com/tech/958050
Leave a Response